การอั้นอากาศในโมลพลาสติก

การอั้นอากาศในโมลพลาสติก



ขั้นตอนการฉีดพลาสติก เครื่องฉีดพลาสติกจะสร้างแรงดันให้น้ำพลาสติกหลอมเหลวไหลเข้าสู่แม่พิมพ์ ซึ่งจะเข้าไปแทนที่อากาศภายในคาวิตี้ หากอากาศภายในแม่พิมพ์นี้ ไม่สามารถเล็ดลอดออกไปได้ ก็จะขัดขวางการไหลของน้ำพลาสติก ซึ่งจะทำให้อากาศภายในร้อนขึ้นเนื่องจากการอัดตัว เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดรอยไหม้ที่ผิวชิ้นงานพลาสติก ทำให้ชิ้นงานเสียหาย

ปัญหาการอั้นอากาศในแม่พิมพ์ฉีด

ภาพที่ 1 แสดงปัญหาการอั้นอากาศในแม่พิมพ์ฉีด

โดยปกติ แม่พิมพ์พลาสติก ไม่จำเป็นต้องออกแบบร่องระบายอากาศ เนื่องจากอากาศภายในสามารถเล็ดลอดออกไปได้ทางเส้นแบ่ง (parting line) หรือออกทางเข็มกระทุ้งได้ แต่ในบางกรณีหากเส้นแบ่งถูกเจียรไนมาอย่างดี จนทำให้อากาศภายในไม่สามารถไหลออกมาได้ทัน ผู้ออกแบบแม่พิมพ์อาจต้องทำการเพิ่มร่องระบายอากาศภายใน เพื่อแก้ไขการอั้นอากาศ การแก้ไขนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่ในบทความนี้จะเสนอแนวทางแก้ไขโดยการเพิ่มตำแหน่งเข็มกระทุ้ง ส่วนวิธีการอื่นๆจะนำเสนอในบทความครั้งต่อไป

การเพิ่มเข็มกระทุ้งเพื่อช่วยระบายอากาศภายใน เป็นอีกวิธีที่นิยมใช้ เนื่องจากทำได้ง่าย สามารถแก้ไขได้ตรงจุดที่เกิดปัญหา (ถ้าเนื้อที่ในแม่พิมพ์เพียงพอ) และยังช่วยให้ชิ้นงานปลดออกจากแม่พิมพ์ได้สะดวกมากขึ้นด้วย

จากภาพที่ 1 เป็นการทดสอบแม่พิมพ์ครั้งแรก ซึ่งแม่พิมพ์เป็นแบบ 3 plate ตำแหน่ง gate 4 จุดเข้าที่มุมของชิ้นงาน เมื่อทำการทดลองฉีด ที่ชิ้นงานจะเกิดรอยประสาน (weld line) ที่บริเวณกึ่งกลางของชิ้นงาน เนื่องจากไม่มีจุดที่สามารถระบายอากาศภายในออกไปได้

ปัญหาการอั้นอากาศในแม่พิมพ์ฉีด

ภาพที่ 2 เพิ่มเข็มกระทุ้งในบริเวณที่เกิดปัญหาเพื่อระบายอากาศ

จากภาพที่2ได้ทำการแก้ไขโดยการเพิ่มเข็มกระทุ้งเข้าไปในจุดที่เกิดปัญหา หลังจากที่ได้ทดลองฉีดอีกครั้ง ก็ไม่พบการอั้นอากาศที่ผิวชิ้นงานอีกเลย ถึงแม้จะเพิ่มความเร็วฉีดให้มากขึ้นก็ตาม

Social tagging: > > >

Comments are closed.