How to Make Injection Mould with 3D Printer
ขั้นตอนในการผลิตแม่พิมพ์พลาสติก ต้องอาศัยเครื่องจักรหลากหลายชนิด เพื่อขึ้นรูปโลหะให้ตรงตามแบบทำให้ต้นทุนในการผลิตแม่พิมพ์พลาสติกมีราคาสูง และ เมื่อได้ทำการตัดเฉือนโลหะไปแล้วหากมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขแบบชิ้นงาน อาจต้องทำการขึ้นรูปใหม่ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากและค่าใช้จ่ายจะสูงมาก
ในปัจจุจบันได้มีการนำเครื่อง 3D Printer มาใช้ช่วยในการผลิตแม่พิมพ์พลาสติกสำหรับชิ้นงานต้นแบบ ซึ่งลดเวลาในการผลิตแม่พิมพ์ลงได้เป็นอย่างดี ทำให้ต้นทุนในการผลิตแม่พิมพ์พลาสติกลดลง
เริ่มต้นจากการออกแบบชิ้นงานและ insert ของแม่พิมพ์พลาสติก จากนั้นจึงทำโปรแกรมสั่ง 3D Printer เพื่อยิงชิ้นงาน insert แม่พิมพ์ต้นแบบขึ้นมา
ในขั้นตอนการใช้ 3D Printer เพื่อผลิตแม่พิมพ์พลาสติกนี้ ควรคำนึงถึงชนิดและอุณหภูมิหลอมเหลวของพลาสติกที่จะนำมาขึ้นรูปด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการหลอมเหลวในขณะฉีดพลาสติก
ในภาพที่ 3 แสดงการ Fitting ชิ้นงานที่ได้จาก 3D Printer ในขั้นตอนนี้ควรเผื่อขนาดรูสำหรับทำเกลียวเพื่อยึด insert และช่องทางวิ่งน้ำพลาสติกให้ถูกต้อง และต้องทำการขัดตำหนิและข้อบกพร่องใดๆที่เกิดขึ้นระหว่าง layer ของชิ้นงาน
หลังจากการ Fitting และขัดลื่นเรียบร้อยแล้ว ก็ทำการติดตั้งแม่พิมพ์เข้ากับเครื่องฉีดพลาสติก เพื่อทำการทดลองฉีดพลาสติก ซึ่งในขั้นตอนการปิดแม่พิมพ์ควรปรับตั้งเครื่องฉีดพลาสติกให้ประกบอย่างช้าๆ และต้องทำการพ่นสารหล่อลื่นเพื่อป้องกันการติดแม่พิมพ์
ทำการปรับตั้งเครื่องฉีดพลาสติกจนได้แรงดันฉีดที่เหมาะสม และไม่ควรเดินเครื่องฉีดต่อเนื่อง อาจทำให้ insert เสียหายได้
สรุป
ถึงแม้ว่าการใช้ 3D Printer จะช่วยสร้างแม่พิมพ์ต้นแบบได้รวดเร็วขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น เรื่องขนาดชิ้นงาน,ความทนทานในการผลิต,รอบการฉีดที่นานขึ้น และอายุการใช้งานที่สั้นมาก จึงเหมาะที่จะใช้ทำเป็นงานต้นแบบมากกว่าที่จะนำมาใช้ในการผลิต
Social tagging: ฉีดพลาสติก > แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก > แม่พิมพ์พลาสติก > แม่พิมพ์ราคาถูก