แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก แบบปลดชิ้นงานโดยใช้แรงดันอากาศ Air Ejection

ในการฉีดพลาสติก เมื่อพลาสติกหลอมเหลวถูกดันสู่แม่พิมพ์แล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือการ cooling ชิ้นงาน เมื่อชิ้นงานเซทตัวดีพอแล้ว จึงทำการปลดชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ ในขั้นตอนนี้เราเรียกกันว่า Ejection โดยทั่วไปแล้ว การปลดชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ เรามักใช้ ejector pin หรือแผ่นใช้ปลดชิ้นงาน ejector plate ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะของชิ้นงานนั้นๆ ในบทความนี้จะนำเสนอวิธีการปลดชิ้นงานโดยใช้ลม ซึ่งเรียกว่า air ejector

การปลดชิ้นงานโดยใช้ลม คือการใช้แรงดันลมจากแหล่งกำเนิดภายนอก ต่อเข้าสู่ตัวแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก เมื่อแม่พิมพ์เปิด ลมจะได้ดันชิ้นงานให้หลุดออกจากตัวแม่พิมพ์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะขึ้นอยู่กับชิ้นงานว่ามีขนาดใหญ่หรือเล็ก และชิ้นงาน

มีความยุ่งยากเท่าใด โดยส่วนมากแล้วในอดีตมักนิยมใช้กับพลาสติกเทอร์โมเซตติ้ง แต่ในปัจจุบัน งานบรรจุภัณท์ผนังบางทั้งหลาย จะใช้วิธีนี้เป็นส่วนใหญ่

ข้อดีของการใช้ลมปลดชิ้นงาน

1.ไม่ต้องใช้ stripper plate, ejector plate ,ejector pin, spacer ซึ่งจะทำให้แม่พิมพ์เบาขึ้น และความหนาแม่พิมพ์ลดลง

2.ระบบกลไกไม่มีความซับซ้อน ใช้กับแม่พิมพ์ธรรมดาได้ง่าย

3.การเพิ่มท่อน้ำหล่อเย็นในแม่พิมพ์ ทำได้ง่ายและสะดวก เพราะโครงสร้างแม่พิมพ์ไม่ซับซ้อน

ข้อเสียของการใช้ลมปลดชิ้นงาน

1.แรงที่ได้จากการปลดชิ้นงานน้อยและมีขีดจำกัด

2.ไม่สามารถใช้กับงานที่มี undercut ได้

3.อากาศที่ใช้ปลดชิ้นงานต้องไม่มีฝุ่นและเป็นอากาศแห้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใน cavity   ของแม่พิมพ์ เช่นการเกิดสนิม

4.กรณีไม่สามารถใช้ standard part ได้ ค่าพิกัดความเผื่อของรูระบายอากาศต้องมีความเที่ยงตรงสูง เพราะหากพิกัดมากเกินไปจะทำให้พลาสติกล้นออกมา แต่ถ้าน้อยเกินไปจะไม่สามารถดันชิ้นงานออกมาได้

air ejector แสดงการปลดชิ้นงานร่วมกับแผ่น stripper plate
ภาพที่ 1 air ejector แสดงการปลดชิ้นงานร่วมกับแผ่น stripper plate

ภาพที่1 แสดงตำแหน่งการติดตั้ง air ejector ในแม่พิมพ์และการทำงานร่วมกับแผ่น stripper plate ใช้ในกรณีที่ต้องการความมั่นใจว่าชิ้นงานที่ฉีดจะถูกปลดออกมาจากแม่พิมพ์อย่างแน่นอน ในกรณีนี้แม่พิมพ์จะมีอายุการใช้งานที่สั้นกว่า เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่มากกว่า การสึกหรอจะเกิดขึ้นที่แผ่น stripper plate

air ejector แสดงการปลดชิ้นงานโดยใช้แรงดันลมเพียงอย่างเดียว
ภาพที่ 2 air ejector แสดงการปลดชิ้นงานโดยใช้แรงดันลมเพียงอย่างเดียว

ในภาพที่2 แสดงการใช้ air ejector เพียงอย่างเดียว ในลักษณะนี้ราคาแม่พิมพ์จะถูกกว่า เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนที่น้อยกว่า ทำให้ลดเวลาในการสร้างแม่พิมพ์ได้ อีกทั้งอายุการใช้งานของแม่พิมพ์ จะมากกว่าภาพที่1ด้วย

Social tagging: > > > > > > > >

Comments are closed.