Archives for admin

การทำเกลียวในงานพลาสติก (Thread)

การทำเกลียวในงานผลิตพลาสติก



ชิ้นส่วนเทอร์โมพลาสติก สามารถทำให้มีเกลียวนอกและเกลียวในได้อย่างประหยัด ด้วยเทคนิคการฉีดพลาสติกแบบต่างๆ ช่วยลดการทำงานที่ต้องตัดเกลียวของชิ้นงานกึ่งสำเร็จ เมื่อต้องการเกลียวจากการฉีดพลาสติก จะต้องระมัดระวังในการออกแบบแม่พิมพ์ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดปัญหาในการปลดชิ้นงานไม่ออกเนื่องจาก Undercut
ชิ้นงานที่่มีเกลียวนอก สามารถฉีดได้ในแม่พิมพ์ที่มีอุปกรณ์คลายเกลียวนอก (Thread-unscrewing)อย่างไรก็ตาม ชิ้นงานจำนวนมากที่มีเกลียวนอก ก็สามารถฉีดด้วยแม่พิมพ์ที่สร้างในราคาที่ถูกกว่านั่นคือ เส้นแบ่งของแม่พิมพ์ (Parting Line) จะอยู่ในตำแหน่งเส้นศูนย์กลาง (Center Line) ของเกลียว (ตามภาพด้านล่าง)

thread plastic

ชิ้นงานที่มีเกลียวใน สามารถฉีดโดยแม่พิมพ์ที่ติดตั้งอุปกรณ์คลายเกลียว แกนที่ยุบได้ (Collapsible- Core) หรือใช้มือหมุนชุดเกลียว (Thread Insert) ซึ่งถอดออกจากแม่พิมพ์พร้อมกับชิ้นงานแล้วจึงหมุนคลายเกลียวถอดออกจากชิ้นงาน และจึงฝส่ Thread Insert กลับเข้าไปอีกครั้ง แกนที่ยุบได้บางครั้งอาจไม่ต้องใช้อุปกรณ์คลายเกลียวThread Insert กับการฉีดเกลียวที่มีรูปร่างหน้าตัดกลม ขึ้นอยู่กับเกรดพลาสติกที่ใช้และอุณหภูมิที่ใช้ ในบางกรณีก็อาจเป็นได้ที่จะถอดเกลียวที่ฉีดออกจากแม่พิมพ์ โดบปลดจาก Core ที่เป็นเกลียวนอกตื้นๆ แล้วไม่ทำให้ชิ้งานพลาสติกเสียหาย อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ต้องใช้แผ่นปลด Stripper Plate หรือเข็มกระทุ้ง Ejector Pin ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่

ความร้อนสะสมในชื้นงานพลาสติก Melt Accumulation

Melt Accumulation จุดสะสมน้ำพลาสติก



การออกแบบชิ้นงานพลาสติก ควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนความหนาของหน้าตัด แต่หากต้องเปลี่ยนความหนา ด้วยเหตุผลทางด้านความแข็งแรงและประโยชน์ใช้สอยควรเปลี่ยนไปทีละน้อย การเปลี่ยนแปลงความหนาของหน้าตัดแบบหักมุม จะทำให้เกิดความเค้นเฉพาะจุด เมื่อรับแรงก็จะเกิดการร้าวเปรียบเสมือนเป็นรอยบากหรือทำให้แตกไว้ก่อนตรงบริเวณนั้น

จุดสะสมน้ำพลาสติกเป็นส่วนที่ใช้เวลานานในการหล่อเย็น จึงทำให้รอบการฉีดนานขึ้นด้วยและยังเป็นสาเหตุของการเกิดโพรงอากาศ(viod) ในภาพด้านล่างเป็นการแสดงให้เห็นการออกแบบโครงเพื่อเสริมความแข็งแรง โครงที่จัดวางเป็นกากบาก กรณีนี้จะเห็นได้ชัดเจนถึงความแตกต่างของการออกแบบ ให้เหมาะสมกับสภาพการฉีดพลาสติกและการรับแรง ชิ้นงานพลาสติกที่มีโครงจัดวางเป็นรูปกากบาท จะมีความแข็งแรงกว่าโครงสร้างที่จัดวางเยื้องกัน และทนแรงได้มากกว่า

จุดสะสมน้ำพลาสติก

จุดสะสมน้ำพลาสติก

ในภาพ C แสดงการออกแบบจุดตัดของโครงสี่เส้น ที่คำนึงถึงคุณสมบัติของพลาสติก และการรับแรงไปพร้อมๆกัน แบบนี้จะไม่มีจุดสะสมน้ำพลาสติก อีกทั้งความหนาของโครงและจุดเชื่อมต่อจะเท่ากัน ค่าใช้จ่ายในการทำแม่พิมพ์แบบนี้จะสูงขึ้นอีกมาก และต้องระวังเรื่องน้ำหนักของชิ้นงานเมื่อคำนึงถึงความประหยัด

ชิ้นงานหนึ่งที่มีความยากในด้านการออกแบบแม่พิมพ์และการฉีดพลาสติกคือ ภาชนะบรรจุเพื่อการขนส่งและลังวางขวด ซึ่งทำจากพลาสติก HDPE ภาชนะเหล่านี้ต้องทนแรงสูงที่เกิดจากการขนย้าย แรงกระแทก และความเค้นอัดเมื่อวางซ้อนกัน ในโรงงานเบียร์และเครื่องดื่มมักพบว่ามีการวางซ้อนกันสูงถึง4-5เมตร หรือมากกว่านั้น

ประมาณว่าความสูงของลังคือ 250 มม. และลังหนึ่งใบมีขวดวางเต็มจะมีน้ำหนัก 15 กก. เมื่อวางซื้อนกัน 18 ใบ ลังที่อยู่ใบล่างสุดต้องรับแรงได้ถึง 17×15=255 กก. การออกแบบที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เนื่องจากหากแม่พิมพ์ทำการผลิตขึ้นมาแล้ว หากไม่สามารถใช้งานและรับแรงได้จริงเท่ากับเป็นการสูญเปล่าทั้งเวลาและวัสดุ

พิมพ์ลายบนชิ้นงานพลาสติก In-Mould Labelling

In Mould Labellingการเพิ่มลวดลายบนชิ้นงานพลาสติก



ชิ้นงานพลาสติกที่ผ่านกระบวนการขึ้นรูปทั้งในระบบของงานฉีดพลาสติก,งานเป่าพลาสติกและงานเทอร์โมฟอร์มมิ่ง ล้วนแล้วแต่สามารถพิมพ์ลวดลายเพิ่มเติมได้ทั้งหมด กระบวนการพิมพ์ลายบนพลาสติกก็ได้มีการพัฒนาเพิ่มความสวยงาม,ทนทานต่อการใช้งานมากขึ้น วิธีที่นิยมใช้กันมากในอดีตคือการสกรีนสีลงบนชิ้นงานพลาสติก โดยจะทำเป็นบล็อกเพื่อสกรีนสีลงไปขนาดของบล็อกขึ้นอยู่กับจำนวนสีและรูปร่างของชิ้นงานที่จะสกรีน วิธีการนี้จะเสียเวลาในการจัดเตรียมชิ้นงานและค่อนข้างวุ่นวายมากหากพิมพ์หลายสี

ต่อมาจึงได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้การกดสี(Pad Print) โดยใช้วัสดุที่ให้ตัวได้ทำการกดที่เพลทสี และจึงนำไปกดที่ชิ้นงานอีกที (ลักษณะเหมือนปั๊มตรายาง)วิธีการนี้จะรวดเร็วกว่า วิธีสกรีนแต่ก็ยังถูกจำกัดด้วยจำนวนสี หากต้องการพิมพ์หลายๆสีจำต้องมีแผ่นเพลทตามจำนวนสีนั้นๆ อีกทั้งยังเสียเวลาและพื้นที่ในการจัดเก็บขณะรอให้สีแห้ง ซึ่งทั้งสองวิธีตามที่กล่าวมา เมื่อชิ้นงานพลาสติกถูกใช้งานไประยะเวลาหนึ่ง สีที่พิมพ์ไว้มีโอกาสหลุดลอกออก

จากข้อจำกัดเรื่องของสีจึงได้มีผู้พัฒนาโดยวิธีการพิมพ์ลวดลายลงบนฟิลม์พลาสติกก่อน แล้วจึงนำฟิลม์เข้าไปแปะในแม่พิมพ์ก่อนที่จะทำการฉีดพลาสติกหุ้มเข้าไป ตัวฟิลม์จะยึดติดกับผิวของแม่พิมพ์ด้วยไฟฟ้าสถิต ตำแหน่งในการวางฟิลม์จะต้องถูกต้องทุกครั้ง โดยส่วนมากจะใช้แขนกลเป็นตัวจับวางเพื่อให้ได้ตำแหน่งการวางที่แม่นยำและเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ปฎิบัติงาน ด้วยกระบวนการผลิตแบบนี้จะทำให้ได้ชิ้นงานพลาสติกที่มีสีสันสวยงามและไม่หลุดลอกจากการใช้งาน และวิธีการนี้ไม่เพียงใช้ได้กับการบวนการฉีดพลาสติก ยังสามารถใช้ได้กับงานเป่าพลาสติก,งานแวคคั่ม เทอร์โมฟอร์มมิ่งอีกด้วย อย่างไรก็ดีวิธีการนี้ไม่เหมาะกับการผลิตจำนวนน้อยๆ

การพิมพ์ลายบนพลาสติก

การพิมพ์ลายบนพลาสติก

การเพิ่มระยะการปลดชิ้นงานในแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก

แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกกับการปลดชิ้นงาน



ในการออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก ผู้ออกแบบจำเป็นที่จะต้องต้องคำนึงถึงวิธีการปลดชิ้นงานเพื่อให้การฉีดพลาสติกเป็นได้อย่างต่อเนื่อง แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกที่ดีควรจะต้องสามารถปล่อยให้เดินได้อย่างอิสระ ซึ่งจะทำให้ผลิตชิ้นงานพลาสติกได้อย่างรวดเร็วและมีราคาไม่แพงเนื่องจากใช้ผู้ปฎิบัติงานน้อยลง อย่างไรก็ดีต้นทุนหลักๆของการผลิตแม่พิมพ์พลาสติกคือค่าวัสดุและค่าแรงงาน ในแม่พิมพ์พลาสติกขนาดเล็กค่าวัสดุสำหรับทำแม่พิมพ์อาจไม่แตกต่างกันมาก แต่ในแม่พิมพ์ขนาดใหญ่การลดเนื้อวัสดุลงได้ 5-10 มิลลิเมตร อาจทำให้ราคาแม่พิมพ์ถูกลงได้มาก

ระบบปลดชิ้นงานในแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกจะเป็นบริเวณที่จะต้องใช้วัสดุที่มีความหนาเพื่อทำเป็นขารองแม่พิมพ์ และยังเป็นที่ติดตั้งระบบปลดชิ้นงานอีกด้วย ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น หากการปลดชิ้นงานพลาสติกทำได้อย่างรวดเร็วย่อมส่งผลโดยตรงที่จะเพิ่มผลผลิตในการฉีดพลาสติกได้ ถ้าผู้ออกแบบแม่พิมพ์สามารถลดวัสดุให้ใช้น้อยลงและยังคงลดเวลาสำหรับการปลดชิ้นงานลงด้วยย่อมเป็นเรื่องที่ดีมาก

การเพิ่มระยะระบบปลดชิ้นงานพลาสติก

การเพิ่มระยะระบบปลดชิ้นงานพลาสติก

เราสามารถลดระยะทางในการกระทุ้งปลดชิ้นงานลงได้และลดความสูงของตัวรองแม่พิมพ์ได้โดยการสร้างชุดกลไก โดยชุดกลไกนี้จะใช้เฟืองในการส่งกำลังเมื่อเครื่องฉีดพลาสติกเริ่มกระทุ้งเพื่อปลดชิ้นงาน แผ่นรองจะมาดันให้ชุดเฟืองเริ่มเคลื่อนที่ส่งแรงผ่านเฟืองสะพานไปยังแท่นเฟืองชุดที่ 2 ซึ่งจะถูกยึดติดกับเข็มกระทุ้งทำให้เข็มกระทุ้งเลื่อนปลดชิ้นงาน ระยะทางในการปลดชิ้นงานจะถูกเพิ่มขึ้นจากการปลดแบบปกติ การออกแบบระบบนี้ผู้ออกแบบต้องคำนวณระยะในการเคลื่อนที่ของชุดฟันเฟืองให้ถูกต้อง ซึ่งหากมีการคำนวณระยะผิดพลาดจะเกิดความเสียหายอย่างมากกับชุดฟันเฟือง

แม่พิมพ์ฝาขวดน้ำแบบคลายเกลียว

ฝาขวดน้ำพลาสติกแบบมีเกลียว



ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณท์ประเภทขวดน้ำดื่มพลาสติกมักนิยมผลิตด้วยกรรมวิธีการเป่า ซึ่งกระบวนการเป่าพลาสติกมีหลากหลายวิธีการตามที่ได้เคยกล่าวไว้ในบทความที่ผ่านมา ขวดพลาสติกที่ใช้บรรจุเครื่องดื่มในปัจจุบันนิยมใช้เป็นแบบฝาเกลียวพลาสติก เนื่องจากใช้งานได้สะดวก,สามารถกันการรั่วซึมได้ดี และที่สำคัญมีราคาไม่แพง

ฝาพลาสติกที่ใช้ในท้องตลาดทุกวันนี้จะเป็นฝาแบบมีเกลียวภายในแทบทั้งหมด ในกระบวการผลิตฝาพลาสติก เมื่อเราฉีดพลาสติกหลอมเหลวเข้าสู่แม่พิมพ์ พลาสติกหลอมเหลวจะเข้าไปแทนที่ช่องว่างในแม่พิมพ์พลาสติก ทำให้เมื่อเวลาที่พลาสติกเย็นตัวลง เราจะไม่สามารถปลดชิ้นงานออกมาจากแม่พิมพ์ได้ เนื่องจากติดเกลียวของตัวฝาเอง ผู้ที่ออกแบบแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกจะต้องทำการออกแบบระบบกลไกเพื่อใช้ในการปลดชิ้นงานพลาสติกออกจากแม่พิมพ์

การทำงานของแม่พิมพ์ชนิดนี้คือ ที่ตัวแกนแท่งเกลียวที่ใช้สำหรับขึ้นรูปฝา จะถูกยึดติดไว้กับฟันเฟือง ซึ่งตัวฟันเฟืองนี้จะขบกับแกนไฮดรอลิคหรือมอเตอร์ขับเพื่อใช้เป็นต้นกำลังในการปลดฝาพลาสติกออกจากแม่พิมพ์ ในแม่พิมพ์พลาสติกที่มีหลายหลุมการขับเคลื่อนแกนดังกล่าวต้องใช้แรงมากผู้ออกแบบควรคำนึงถึงกำลังในการขับเคลื่อนชุดกลไก เพื่อให้ชิ้นงานถูกปลดออกจากแม่พิมพ์ได้อย่างสมบูรณ์

แม่พิมพ์ฝาพลาสติก

แม่พิมพ์ฝาพลาสติก

ในขณะที่แกนที่ใช้ในการขึ้นรูปเกลียวหมุนไป ตัวฝาพลาสติกย่อมมีโอกาสที่จะหมุนตามแกนเกลียวดังกล่าวไปด้วย เพื่อป้องกันการผิดพลาดดังกล่าว ในด้านนอกของฝาพลาสติกจะทำเป็นลายขวางไว้เพื่อกันไม่ให้พลาสติกหมุนตามแกนขึ้นรูปเกลียว โดยฝั่งที่ขึ้นรูปด้านนอกของฝาพลาสติกจะสามารถเลื่อนไปมาในแม่พิมพ์ได้

แม่พิมพ์เป่าพลาสติกแบบเป่ายืด Stretch Blow Mold

Stretch Blow Mold แม่พิมพ์แบบเป่ายืด



ในกระบวนการเป่าพลาสติกทุกแบบตามที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนหน้านี้ ล้วนมีจุดประสงค์ให้ขวดพลาสติกที่เป่าขึ้นรูปมีความหนาของขวดใกล้เคียงกัน เพื่อความแข็งแรงของตัวขวดพลาสติกเอง และเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ตัววัสดุให้คุ้มค่าที่สุด หากมองด้านการผลิตอย่างเดียว ขวดก็คงไม่ต้องสนใจรูปร่างขอเพียงบรรจุสินค้าแล้วไม่หกเลอะเสียหายเป็นพอ แต่ในความเป็นจริงผลิตภัณท์หนึ่งอย่าง จำเป็นต้องมองถึงด้านการตลาดด้วย สินค้าที่ถูกบรรจุด้วยวัสดุที่สวยงามย่อมส่งผลให้ผู้บริโภคอยากเลือกใช้ในสินค้ามากขึ้น

ขวดพลาสติกใสก็เป็นงานเป่าประเภทนึงที่จำเป็นต้องได้รับการผลิตจากแม่พิมพ์ที่ถูกต้อง เพราะการจะทำให้พลาสติกมีความใสแม่พิมพ์ต้องมีความมันเงา วัสดุที่ใช้ทำแม่พิมพ์เป่าต้องมีคุณสมบัติต้านการกัดกร่อนได้ดี เนื่องจากพลาสติกใสที่ใช้ในการเป่าพลาสติกมักเป็นพลาสติกประเภท PET และ Polycarbonate ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ในตระกูล Polyester ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพลาสติกวิศวกรรม ผลิตจากการรวมตัวของเกลือโซเดียมของบิสฟีนอลเอ และฟอสจีน จากการศึกษาพบว่าขวดน้ำดื่มที่ทำจากโพลีคาร์บอเนตจะแพร่สารบิสฟีนอล เอ ออกมามากกว่าปกติถึง 55 เท่าเมื่อใส่น้ำร้อน ไม่ว่าจะเป็นขวดเก่าหรือขวดใหม่ก็ตาม ซึ่งการศึกษาโดย US FDA ในสภาพการใช้งานปกติพบว่ามีการแพร่ของบีสฟีนอล เอ จากขวดน้ำขนาด 5 แกลลอนเข้าไปในน้ำที่เก็บไว้ 39 สัปดาห์ อยู่ในช่วง 0.1 – 4.7 ส่วนในพันล้านส่วน (ที่มา http://www.chemtrack.org ) ในอดีตเรามักใช้ขวดประเภท PC เป็นขวดนมเด็ก แต่ในปัจจุบันเมื่อตรวจพบว่าขวด PC มีโอกาสปล่อยสารบีสฟีนอลจึงมีการเปลี่ยนมาใช้เป็นขวด PP แทน

ขวดพลาสติกเป่าประเภท PP หากทำการเป่าด้วยกระบวนการอื่นๆ เช่น Extrusion Blow หรือ Injection Blow มักจะได้ขวดที่ไม่ใส แต่หากเป่าด้วยกระบวการเป่ายืด Stretch Blow Mold จะทำให้ขวดที่ได้มีความใสมากกว่ากระบวนการทั้ง 2 โดยในขั้นตอนการเป่าจะรูปแบบเหมือนกับการเป่าแบบเป่าฉีด Injection Blow แต่จะแตกต่างกันตรงที่ เมื่อเราให้ความร้อนกับหลอด Preform จนถึงอุณหภูมิที่เหมาะสม ก่อนที่จะทำการเป่าพลาสติก เครื่องจะส่งแกนเหล็กกระทุ้งหลอด Preform ให้ยืดออกไปก่อนเพื่อให้เนื้อพลาสติกของหลอด Preform มีความแข็งแรงลดลง จากนั้นจึงเป่าพลาสติกเพื่อขึ้นรูปขวด วิธีการนี้จะทำให้ได้ขวดที่่มีความใสมาก และประหยัดวัสดุลงไปได้เนื่องจากสามารถใช้หลอด Preform สั้นไปเป่าขวดที่มีความยาวกว่าหลอด Preform ได้

แม่พิมพ์เป่าพลาสติกแบบฉีดเป่า Injection Blow Molding

Injection BLow Molding การเป่าพลาสติกแบบฉีดเป่า



ในอุตสาหกรรมการเป่าพลาสติก ระบบการฉีดเป่าถือเป็นระบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะมีราคาถูก,ควบคุมน้ำหนักได้ง่าย,มีความแข็งแรง,ทำรูปทรงได้หลากหลาย,ระยะเวลาผลิตสัั้น อื่นๆ จะเห็นได้ว่ากระบวนการนี้มีข้อดีมากมายจึงทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการนี้ในการผลิต อาจเรียกได้ว่ากว่า80%ของบรรจุภัณท์ ที่ใช้บรรจุเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อจะเป็นกรบวนการฉีดเป่าทั้งสิ้น

การฉีดเป่าพลาสติกจะเริ่มโดย ผู้ผลิตต้องฉีดหลอด preform ขึ้นมาก่อน ในขั้นตอนการออกแบบหลอดpreformนี้ต้องให้เหมาะสมกับขนาดและรูปร่างของขวดที่จะเป่า แต่โรงงานที่เป่าขวดโดยทั่วไปมักจะซื้อหลอด preform สำเร็จรูปที่มีขายทั่วๆไปมากกว่า เนื่องจากหาซื้อง่ายและประหยัดต้นทุนในการผลิต

หลังจากที่ได้หลอด preform มาแล้ว จะนำไปให้ความร้อนจนถึงอุณหภูมิที่ต้องการ เมื่อทุกอย่างพร้อม แม่พิมพ์จะเลื่อนเข้ามาเพื่อเป่าขึ้นรูปชิ้นงาน หลอด preform ที่อ่อนตัวจะถูกแรงดันลมเป่าพลาสติกจนยืดไปแนบกับผิวของแม่พิมพ์ ทำให้ได้รูปทรงตามแม่แบบ

โดยปกติผู้ผลิตมักจะให้ความสำคัญกับความหนาของขวด เนื่องจากในการใช้งานจริงเมื่อขวดถูกบรรจุของเหลวเข้าไป จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น ในกรณีที่ขวดไม่แข็งแรงเพียงพอเมื่อได้รับแรงกระแทกหรือการเรียงซ้อนกันจากการขนส่งอาจทำให้ขวดเสียหายได้ และอีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญคือ ปริมาตรที่ใช้บรรจุ หากขวดหนาหรือบางเกินไปจะทำให้ปริมาตรบรรจุเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้นผู้ที่ออกแบบแม่พิมพ์เป่าต้องให้ความสำคัญในจุดนี้ด้วย

แม่พิมพ์เป่าพลาสติกแบบเป่ายืด Extrusion Blow Mold

Extrusion Blow Mold แม่พิมพ์เป่าพลาสติก



แม่พิมพ์ชนิดนี้จะใช้หลักการปล่อยพลาสติกหลอมเหลวไหลผ่านหัวดาย การกำหนดความหนาบางของชิ้นงานเป่าพลาสติกจะถูกกำหนดด้วยการไหลผ่านหัวดายนี้ เราเรียกพลาสติกหลอมเหลวนี้ว่า Parison ซึ่งเป็นเทคนิค ที่ทำการรีดพลาสติกหลอมเหลวเป็นท่อกลวง (parison) เมื่อพลาสติกหลอมเหลวไหลจนได้ระยะตามต้องการแล้ว ที่เครื่องเป่าพลาสติกจะเลื่อนแม่พิมพ์เข้ามาปิด จากนั้นจะมีท่อเลื่อนเข้าไปเป่าด้วยลมผ่านท่อ ทำให้เกิดการพองตัวภายในเบ้าแม่พิมพ์ วิธีนี้จะนิยมใช้กันมาก ชิ้นงานที่ได้จะควบคุมขนาดได้ไ่ม่ดีนัก,คุณภาพผิวก็ไม่สูงนัก,ตัวอย่างชิ้นงานที่ผลิตด้วยวิธีนี้ คือ ขดน้ำพลาสติกสีขาวขุ่น,แกลลอนน้ำมัน

การเป่าพลาสติกด้วยวิธีนี้ หลังจากที่เครื่องเป่าพลาสติกเริ่มปิดแม่พิมพ์ ใบมีดจะ๔ุกติดตั้งอยู่ด้านบนเื่อเครื่องเป่าพลาสติกเลื่อนเข้ามาปิด ใบมีดก็จะถูกเลื่อนเข้ามาตัดพาริสันในตำแหน่งเหนือส่วนบนของเบ้าเล็กน้อย เมื่อท่อลมเลื่อนเข้าไปเป่าในแกนกลางของพาริสัน ทำให้พลาสติกหลอมเหลวพองตัวแนบกับรูปร่างของแม่พิมพ์ (ความดันลมประมาณ 8 บาร์) เมื่อพลาสติกหลอมเหลวกระทบกับผนังแม่พิมพ์ที่ได้มีการหล่อเย็นไว้ โดยปกติจะนิยมใช้น้ำเย็นที่มีช่วงอุณหภูมิระหว่าง 5 ถึง 15 องศา ไหลหมุนเวียนในแม่พิมพ์เพื่อระบายความร้อน เมื่อชิ้นงานเซ็ทตัวแล้ว แม่พิมพ์ก็จะเลื่อนออกเพื่อปลดชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ และเริ่มวัฎจักรของการผลิตต่อไป

งานฉีดพลาสติก2สี (Two Layer Injection Mold)

แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกแบบ 2 สี (2Layer Injection Mold)



ในงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติก บางชิ้นงานมีความจำเป็นต้องแยกชนิดของพลาสติกเพื่อประโยชน์ในการใช้งาน หรือเพื่อความสวยงาม เช่น ด้ามแปรงสีฟันหากเป็นพลาสติกชนิดเดียว เมื่อถูกน้ำจะทำให้ตัวพลาสติกลื่นทำให้จับไม่ถนัด จึงต้องทำการฉีดหุ้มวัสดุชนิดอื่นเข้าไป เพื่อให้จับใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น ,ในกรณีที่ชิ้นงานต้องถูกสัมผัสบ่อยหรืออาจถูกการเสียดสีบ่อยครั้ง ลำพังแค่การพิมพ์สีลงบนชิ้นส่วนพลาสติกอาจยังไม่ทนทานเพียงพอ การฉีดพลาสติกเป็น2สีจะช่วยเพิ่มความทนทานต่อการใช้งานได้มากกว่า เช่นชิ้นงานประเภทปุ่มโทรศัพท์ ฯลฯ

งานแม่พิมพ์ฉีดหุ้มพลาสติก เครื่องจักรที่ใช้สำหรับฉีดต้องถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งในส่วนของแม่พิมพ์ก็จะต้องทำเป็น 2 ชุดเช่นกัน

แม่พิมพ์พลาสติกฉีดหุ้ม

แม่พิมพ์ฉีดหุ้มพลาสติก

จากภาพด้านบน ในงานฉีดหุ้มพลาสติกจะมีแม่พิมพ์อยู่ 2 ชุด ซึ่งแม่พิมพ์ทั้ง 2 ชุดนี้ จะทำงานร่วมกัน ในจังหวะที่เริ่มทำการฉีดแม่พิมพ์จะเลื่อนเข้าหาหัวฉีดที่ 1 เพื่อฉีดพลาสติกเข้าสู่แม่แบบ เมื่อน้ำพลาสติกถูกเติมเต็มในโพรงแบบแล้ว ตัวแม่พิมพ์จะเลื่อนออก ในจังหวะที่เลื่อนออก ด้านฝั่งคอร์ของแม่พิมพ์หัวฉีดที่ 1 จะหมุนสลับไปสู่หัวฉีดที่ 2 เพื่อทำการฉีดหุ้มชิ้นงาน ในจังหวะเดียวกัน ชิ้นงานที่อยู่ในหัวฉีดที่ 2 ก็จะถูกดันปลด และหมุนกลับไปที่หัวฉีด 1 เพื่อเริ่มฉีดทำการฉีดต่อไป

ในกรณีที่ผู้ฉีดไม่มีเครื่องฉีดที่มีระบบสลับแม่พิมพ์ อาจใช้วิธีการฉีดสีเดียวทั้งหมดก่อน แล้วจึงสลับแม่พิมพ์อีกชุดเพื่อฉีดอีกสี แต่ในกรณีนี้ต้องใช้แรงงานเพื่อใส่ชิ้นงานที่ฉีดมาแล้วเข้าไปในแม่พิมพ์ ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น

แม่พิมพ์ฉีดพลาสติกแบบมีอันเดอร์คัตภายใน

Mould Internal Undercut



อันเดอร์คัต ในงานแม่พิมพ์หมายถึง ส่วนใดๆของชิ้นงานที่เป็นร่องหรือบ่าภายในที่มีการกีดขวางการปลดชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ในแนวการเปิด-ปิดของเครื่องฉีดพลาสติก การปลดชิ้นงานที่มีอันเดอร์คัตภายในมีใช้หลายวิธี ผู้ออกแบบต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในการออกแแบบแม่พิมพ์ เพื่อลดปัญหาในการฉีดชิ้นงาน

โดยทั่วๆไปชิ้นงานที่มีอันเดอร์คัตภายในมักใช้ สลักขึ้นรูป และเป็นตัวปลดชิ้นงานในตัว โดยตัวสลักนี้มักจะออกแบบให้เคลื่อนที่เป็นแนวตรงหรือเคลื่อนที่ในแนวเฉียง ขึ้นอยู่กับลักษณะของชิ้นงานเป็นหลัก

สลักขึ้นรูปแนวเฉียง

สลักขึ้นรูปแนวเฉียง

หลักจากที่เครื่องฉีดพลาสติก ฉีดชิ้นงานเข้าสู่โพรงแบบจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว  ในขั้นตอนการปลดชิ้นงาน เครื่องฉีดจะดันปลดชิ้นงาน สลักขึ้นรูปจะถูกแรงจากเครื่องฉีด ดันให้เคลื่อนที่ในแนวเฉียงจนส่วนที่เป็นอันเดอร์คัตหลุดพ้นจากแนวการเคลื่อนที่ ทำให้สามารถปลดชิ้นงานออกมาได้